📱 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ท่านสามารถติดต่อ Bitkub Exchange ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ใหม่ของ Bitkub Call Center ได้ที่หมายเลข 1518
โปรดศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ การเปิดใช้งานเบอร์โทรศัพท์ใหม่ 1518 สำหรับติดต่อ Bitkub Call Center

ภาษีคริปโทเคอร์เรนซี (Crypto tax) และคำถามที่พบบ่อย

แก้ไขเมื่อ วันพุธ, 9 ตุลาคม เมื่อ 6:14 PM

ตามประกาศล่าสุดของกรมสรรพากรเรื่องแนวปฏิบัติสำหรับการจัดเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซี ณ วันที่ 31 มกราคม 2565 และตามพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ ที่ประกาศเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 มีใจความสำคัญที่สามารถสรุปได้ดังนี้

ข้อกำหนดและสาระสำคัญ

1. กรมสรรพากรยกเว้นการเก็บภาษี ณ ที่จ่าย 15%

2. ผู้ที่พึงเสียภาษีคริปโท ได้แก่ผู้ที่เข้าข่ายดังต่อไปนี้ 

  • มีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล ผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
  • เป็นผู้ขุดคริปโทเคอร์เรนซี
  • ได้รับคริปโทเคอร์เรนซีเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง
  • ได้รับคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลจากการให้ หรือได้รับเป็นรางวัล
  • ได้รับผลประโยชน์หรือผลตอบแทนจากการถือครองคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล

3. ท่านสามารถนำผลขาดทุนมาหักลบกำไรสำหรับปีภาษีเดียวกันได้ เพื่อใช้คิดเงินได้ในการคำนวณภาษี

4. ยกเว้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สําหรับการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ที่กระทําในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2566

5. ยกเว้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สําหรับการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล เพื่อการใช้ประโยชน์ที่กระทําในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล กระทำผ่านนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล กระทำโดยผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล หรือโอนให้แก่ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

6. ยกเว้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสําหรับการโอนสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เกิดขึ้นในวันที่ 1 เมษายน 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2566

วิธีการคำนวณภาษีคริปโท

วิธีการคิดต้นทุนสำหรับการชำระภาษีคริปโท สามารถทำได้ 2 วิธี ดังนี้

วิธีที่ 1: วิธีเข้าก่อน-ออกก่อน (First in, First out) หรือ FIFO

วิธีที่ 2: วิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ หรือ Moving Average Cost

ตัวอย่างที่ 1: การคำนวณต้นทุนกรณีมีการซื้อขายหลายสกุลเหรียญ

1.1 กรณีใช้การคำนวณแบบ FIFO

วันที่ทำธุรกรรม

สกุลเหรียญ

ประเภทธุรกรรม

จำนวนเหรียญ

ราคา

(บาท)

กำไร/ขาดทุน

(บาท)

1/1/2565

X

ซื้อ

1

1,000

-

1/1/2565

Y

ซื้อ

1

600

-

5/1/2565

X

ซื้อ

1

1,400

-

6/1/2565

Y

ซื้อ

1

400

-

10/1/2565

X

ขาย

1

1,150

กำไร 150*

10/1/2565

Y

ขาย

1

500

ขาดทุน 100**


จากตารางข้างต้น ถ้านายเอใช้การคำนวณต้นทุนแบบ FIFO 

  • ต้นทุนของเหรียญ X สำหรับการขาย ณ วันที่ 10/01/2565 จะอยู่ที่ 1,000 บาท (ตามราคาเหรียญ X เหรียญแรกที่ซื้อเข้ามาก่อน) ทำให้นายเอมีกำไรจากการขายเหรียญ X = 1,150 - 1,000 = 150 บาท*
  • ต้นทุนของเหรียญ Y สำหรับการขาย ณ วันที่ 10/01/2565 จะอยู่ที่ 600 บาท (ตามราคาเหรียญ Y เหรียญแรกที่ซื้อเข้ามาก่อน) ทำให้นายเอขาดทุนจากการขายเหรียญ Y = 500 - 600 = -100 บาท**

1.2 กรณีใช้การคำนวณต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่

วันที่ทำธุรกรรม

สกุลเหรียญ

ประเภทธุรกรรม

จำนวนเหรียญ

ราคา

(บาท)

กำไร/ขาดทุน

(บาท)

1/1/2565

X

ซื้อ

1

1,000

-

1/1/2565

Y

ซื้อ

1

600

-

5/1/2565

X

ซื้อ

1

1,400

-

6/1/2565

Y

ซื้อ

1

400

-

10/1/2565

X

ขาย

1

1,150

ขาดทุน 50*

10/1/2565

Y

ขาย

1

500

เท่าทุน**


จากตารางข้างต้น ถ้านายเอใช้การคำนวณต้นทุนแบบต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่

  • ต้นทุนของเหรียญ X สำหรับการขาย ณ วันที่ 10/1/2565 จะเท่ากับ (1,000 + 1,400)/2 = 1,200 บาท ทำให้นายเอขาดทุนจากการขายเหรียญ X = 1,150 - 1,200 = -50 บาท*
  • ต้นทุนของเหรียญ Y สำหรับการขาย ณ วันที่ 10/1/2565 จะเท่ากับ (600 + 400)/2 = 500 บาท ทำให้นายเอไม่ได้กำไรและไม่ได้ขาดทุนจากการขายเหรียญ Y = 500 - 500 = 0 บาท หรือเท่าทุนนั้นเอง**

ตัวอย่างที่ 2: การคำนวณต้นทุนสำหรับการยื่นภาษี กรณีได้กำไร

จากตัวอย่างที่ 1.1 กรณีที่นายเอใช้วิธีการคำนวณต้นทุนแบบ FIFO

นายเอจะมีรายรับสุทธิจากการขายเหรียญ X และเหรียญ Y = 150 - 100 = 50 บาท 

ดังนั้น นายเอต้องทำการยื่นเสียภาษีสำหรับยอดรายได้จากการซื้อขายคริปโท จำนวน 50 บาท

ตัวอย่างที่ 3: การคำนวณต้นทุนสำหรับการยื่นภาษี กรณีขาดทุน

จากตัวอย่างที่ 1.2 กรณีที่นายเอใช้วิธีการคำนวณต้นทุนแบบต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่

นายเอจะมีรายรับสุทธิจากการขายเหรียญ X และเหรียญ Y = -50 + 0 = -50 บาท

นั่นคือ นายเอขาดทุนจากการซื้อขายคริปโทในปีดังกล่าว

ดังนั้น นายเอจึงไม่จำเป็นต้องยื่นเสียภาษีคริปโทสำหรับปีภาษีนี้ เนื่องจากนายเอไม่มีรายรับจากการซื้อขายคริปโท

ทั้งนี้ เหรียญ X และเหรียญ Y ที่นายเอถือครองอยู่ (ที่ยังไม่ได้ขายออกไป) อีกอย่างละ 1 เหรียญ ต้องนำไปเป็นต้นทุนสำหรับการเสียภาษีในปีถัดไป


หมายเหตุ:

  • ท่านต้องใช้วิธีเดียวกันในการคำนวณตลอดปีภาษี ทั้งนี้ วิธีการคำนวณสามารถเปลี่ยนได้ในปีต่อ ๆ ไป
  • วิธีการคำนวณภาษีคริปโททั้งสองแบบนี้ ใช้สำหรับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90/91 เท่านั้น
  • หากท่านมีการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลหลายประเภท ให้คำนวณต้นทุนแยกตามประเภทคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล หลังจากนั้นจึงนำยอดกำไรและขาดทุนทั้งหมดมาหักลบกัน เพื่อหาว่าท่านมีรายได้ (กำไร) คงเหลือเท่าไรที่ต้องยื่นเสียภาษี

การยื่นแบบภาษี

ผู้เสียภาษีต้องทำการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 สำหรับปีภาษีดังกล่าว ภายในวันที่ 31 มีนาคมของปีถัดไป โดยข้อมูลหรือเอกสารที่ต้องใช้ประกอบมีดังนี้

  • จำนวนเหรียญที่ซื้อหรือขาย
  • มูลค่าของคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล ณ วันที่ทำธุรกรรม
  • อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิง
  • รายละเอียดผู้ซื้อหรือผู้ขาย สำหรับการซื้อ/ขายคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล (ถ้ามี)
  • หลักฐานใบกำกับภาษีหรือใบเสร็จค่าใช้จ่าย
  • หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ถ้ามี)

ข้อมูลที่ควรทราบ

  • ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายกำหนดให้ Exchange ส่งข้อมูลของนักลงทุนให้กับกรมสรรพากร แต่นักลงทุนสามารถขอให้ Exchange รวบรวมข้อมูลการซื้อการขายคริปโทเคอร์เรนซีของตนเองเพื่อใช้ในการประเมินสำหรับการคำนวณภาษีเงินได้ให้ถูกต้องครบถ้วนได้ 
  • กรณีทำการขายหรือแลกเปลี่ยนแล้ว แต่ยังไม่ได้ถอนเงินบาทออกจาก Wallet ให้ถือว่ากำไรดังกล่าวเป็นเงินได้ที่ต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีที่มีการขายด้วย
  • ถ้าปีนั้นทั้งปีมีผลคำนวณเงินได้สุทธิเป็นขาดทุน นักลงทุนจะไม่สามารถนำผลขาดทุนยกยอดไปหักลบกับกำไรในปีต่อไปได้
  • ถ้าผู้มีเงินได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% จากผลกำไรและมีเอกสารการหัก ณ ที่จ่าย หลังจากคำนวณภาษีแล้ว สามารถนำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายไปยื่นขอคืนภาษีได้
  • เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 กรมสรรพากรได้มีประกาศแถลงข่าวว่า มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนด้วยโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว (อ้างอิง) โดยใจความสำคัญของมาตรการภาษีนี้คือ จะกำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไร (เงินปันผล) หรือผลประโยชน์อื่นใด ที่ได้รับจากการถือหรือครอบครอง โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ มาตรการภาษีนี้ยังไม่มีการบังคับใช้อย่างเป็นทางการ นักลงทุนจึงควรติดตามประกาศจากกรมสรรพากรต่อไป


ท่านสามารถศึกษาวิธีการคำนวณอย่างละเอียดจากคู่มือ “คำแนะนำการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คริปโทเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัล” ของกรมสรรพากรได้ ที่นี่

 

คำถามที่พบบ่อย


1. บิทคับสามารถเปิดเผยข้อมูลบัญชีของลูกค้าให้กับสรรพากรได้หรือไม่

คำตอบ:

บริษัทไม่สามารถให้ข้อมูลการซื้อขายของลูกค้าบิทคับต่อกรมสรรพากรได้ เนื่องจากเป็น confidential information เว้นเเต่จะมีการยินยอมจากลูกค้าเพื่อเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อกรมสรรพากร

2. กรมสรรพากรมีการขอให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าหรือไม่ หากมี ข้อมูลส่วนใดบ้างที่มีการร้องขอ

คำตอบ:

ทางกรมสรรพากรไม่เคยมีการเรียกขอข้อมูลส่วนตัว หรือธุรกรรมการซื้อ-ขายของลูกค้า อย่างที่แจ้งไว้ข้างต้น บริษัทไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลให้กับกรมสรรพากรได้ หากไม่ได้รับการยินยอมจากลูกค้า

3. ลูกค้าเข้าใจว่า ทางบริษัทไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลของลูกค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากลูกค้า มีข้อมูลในส่วนใดที่เป็นข้อยกเว้น ที่ทางบริษัทสามารถเปิดเผยต่อกับกรมสรรพากรได้โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือไม่

คำตอบ:

กรมสรรพากรไม่สามารถเรียกขอข้อมูลใด ๆ จากบริษัทได้ หากไม่ได้รับการยินยอมจากลูกค้า

4. เป็นไปได้หรือไม่ ที่กรมสรรพากรจะบังคับบริษัทให้เปิดเผยข้อมูลลูกค้าโดยไม่ต้องขออนุญาตลูกค้า หากได้ ในกรณีนี้ทางกรมสรรพากรต้องดำเนินการอย่างไร (เช่น การขอหมายศาลเพื่อบังคับให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลลูกค้า ฯลฯ)

คำตอบ:

เบื้องต้น ยังไม่มีประกาศข้อบังคับหรือกฎหมายที่บริษัทสามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว หรือประวัติการทำธุรกรรมของลูกค้าให้กับกรมสรรพากรได้

5. หากบริษัทมีความจำเป็นที่จะเปิดเผยข้อมูลต่อกรมสรรพากรในอนาคต ทางบริษัทจะชี้แจงให้ลูกค้าทราบหรือไม่ อย่างไร (เช่น การส่งข้อมูลให้กับลูกค้าเหมือนที่เปิดเผยให้กับกรมสรรพากร ฯลฯ)

คำตอบ:

บริษัทต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้าก่อนที่จะเปิดเผยข้อมูลให้กับกรมสรรพากร อย่างไรก็ตาม หากมีกฎหมายหรือข้อบังคับเพิ่มเติมในการนำส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานรัฐโดยมิต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าในอนาคต บริษัทจะมีการแจ้งเตือนเบื้องต้นเพื่อเป็นประโยชน์ในการเตรียมข้อมูล และเอกสารเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้เเจงต่อเจ้าหน้าที่

6. ลูกค้าสามารถติดต่อขอรับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายจากบิทคับได้อย่างไร ต้องใช้เอกสารใดประกอบบ้าง และรายละเอียดเกี่ยวกับระยะเวลาดำเนินการในการออกเอกสาร และช่องทางการจัดส่งเอกสารถึงลูกค้า

คำตอบ:

บริษัทในฐานะ Exchange ไม่ได้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายแทนผู้ขายคริปโทและนำส่งสรรพากร อีกทั้งปัจจุบัน แม้จะมีการออกกฎหมายเพื่อเรียกเก็บภาษีของกำไรที่เกิดขึ้นจากการซื้อ-ขาย หรือถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล โดยให้หัก ณ ที่จ่าย 15% จากผลกำไรของผู้ขายสินทรัพย์ดิจิทัล และต้องออกหนังสือหัก ณ ที่จ่ายให้กับผู้รับชำระ อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ กรมสรรพากรจึงมีมาตรการยกเว้นภาษีดังกล่าวสำหรับการยื่นชำระภาษีเงินได้ปี 2566 จนกว่าจะมีการประกาศแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป

7. การฝาก-ถอนเงินบนระบบของบิทคับ ลูกค้าต้องเสียภาษีหรือไม่

คำตอบ:

บริษัทไม่ได้มีการเรียกเก็บภาษีจากธุรกรรมการฝาก-ถอนเงินบาท อย่างไรก็ตาม หากลูกค้ามีกำไรจากการขายเหรียญ ลูกค้าจะต้องนำผลกำไรดังกล่าวที่เป็นสกุลเงินบาทมารวมในการคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีบุคคลธรรมดาประจำปีตามอัตราก้าวหน้า (สรุปสิ่งที่ต้องนำไปคำนวณเพื่อการเสียภาษีคือ รายได้จากการขายเหรียญ รวมถึงเงินคงเหลือที่ยังไม่ได้ถูกถอนออกจากบัญชีบิทคับด้วย)

8. การชดเชยจากทางบิทคับ (เช่น การคืนเงินบาท การให้เครดิตค่าธรรมเนียมฟรี เป็นต้น) ลูกค้าต้องเสียภาษีหรือไม่

คำตอบ:

เงินได้ที่รับเกิดจากการชดเชยความเสียหาย เป็นเงินได้ที่ ไม่เข้าข่าย ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

9. ต้นทุนที่เกิดจากที่อื่น นอกเหนือจากบิทคับจะต้องใช้วิธีการคำนวณอย่างไร มีข้อกำหนดหรือแนวปฏิบัติหรือไม่ อย่างไร

คำตอบ

ต้นทุนที่ได้รับโอนจาก Exchange อื่นมายังกระเป๋าบิทคับ ลูกค้ามีหน้าที่บันทึกต้นทุนของเหรียญดังกล่าวที่ได้มาจาก Exchange อื่นเพื่อคำนวณกำไร/ขาดทุนเอง บริษัทไม่สามารถระบุต้นทุนที่แท้จริงของเหรียญได้ แต่จะมีการบันทึกราคาตลาด ณ วันโอนของเหรียญนั้น ๆ เท่านั้น

10. การคำนวณภาษีคริปโททั้งสองแบบนั้น บริษัทสามารถคิดคำนวณให้เลยได้หรือไม่

คำตอบ:

ทางบริษัทมีบริการจัดเตรียม เอกสารรายงานเดินบัญชีรายปี เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าของเราในการนำข้อมูลไปใช้ประกอบการคำนวณต้นทุน และกำไร/ขาดทุนจากการลงทุนบนบิทคับ เพื่อการยื่นชำระภาษีหรือวัตถุประสงค์อื่น ๆ ตามที่ต้องการได้ต่อไป


11. ลูกค้าสามารถเลือกวิธีการคำนวณแบบใดก็ได้ หรือมีข้อกำหนดที่ทางกรมสรรพากรบังคับเท่านั้นก่อนยื่นภาษี

คำตอบ:

ท่านสามารถเลือกใช้วิธีการคำนวณภาษีแบบใดก็ได้ จาก 2 วิธีที่กรมสรรพากรกำหนด ทั้งนี้ สำหรับการคำนวณในปีเดียวกัน ท่านสามารถใช้ได้เพียงวิธีเดียวเท่านั้น เช่น หากท่านใช้วิธีการคำนวณแบบ FIFO ในปีนี้ ท่านต้องใช้วิธีเดียวกันนี้ในการคำนวณสำหรับทั้งปีภาษีเดียวกัน และท่านจะสามารถเปลี่ยนไปใช้การคำนวณแบบ Moving Average Cost ได้ในปีภาษีต่อไป (หรือจะใช้วิธีคำนวณแบบ FIFO ต่อก็ได้เช่นกัน)


12. มีข้อมูลใดบ้างที่บิทคับต้องยื่นส่งให้กรมสรรพากร

คำตอบ:

บริษัทมีหน้าที่ในการนำส่งข้อมูลหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่กรมสรรพากรตามกฎหมาย ในกรณีที่ลูกค้ามีรายได้จากโปรแกรมแนะนำเพื่อน (Referral Program) มากกว่า 1,000 บาทต่อเดือน โดยลูกค้าผู้มีรายได้ดังกล่าวสามารถแจ้งขอเอกสาร “หนังสือรับรองหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)” เข้ามายังบิทคับ เอ็กซ์เชนจ์ โดยระบุเดือนหรือช่วงระยะเวลาที่ต้องการทราบข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อทำการตรวจสอบและจัดเตรียมเอกสารเพื่อนำไปใช้ในการยื่นเสียภาษีต่อไปได้


ในส่วนของข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขาย บริษัทไม่ได้มีการนำส่งข้อมูลในส่วนนี้ต่อกรมสรรพากร

บทความนี้มีประโยชน์หรือไม่?

เยี่ยมเลย!

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นของคุณ

ขออภัยที่เราช่วยเหลือไม่ได้!

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นของคุณ

บอกให้เราทราบว่าเราจะปรับปรุงบทความนี้ได้อย่างไร!

เลือกเหตุผลอย่างน้อยหนึ่งข้อ
ต้องมีการตรวจสอบ CAPTCHA

ส่งข้อเสนอแนะแล้ว

เราขอขอบคุณในความพยายามของคุณ และจะพยายามแก้ไขบทความดังกล่าว