ประเภทคำสั่งซื้อ/ขายบนบิทคับ เอ็กซ์เชนจ์

แก้ไขเมื่อ วันศุกร์, 30 สิงหาคม เมื่อ 2:03 PM

ลิมิตออร์เดอร์ (Limit Order) 


ลิมิตออร์เดอร์ เป็นการสร้างคำสั่งซื้อ/ขายเหรียญที่ท่านสามารถตั้งราคาที่ต้องการได้ด้วยตนเอง โดยท่านสามารถตั้งลิมิตออร์เดอร์ได้จากกล่องคำสั่งซื้อขายดังรูป

  • สำหรับลิมิตออร์เดอร์ที่ตั้งซื้อ ระบบจะทำการจับคู่ซื้อทันที เมื่อราคาในตลาดตรงกับราคาลิมิตที่ตั้งไว้หรือต่ำกว่า
  • สำหรับลิมิตออร์เดอร์ที่ตั้งขาย ระบบจะทำการจับคู่ขายทันที เมื่อราคาในตลาดตรงกับราคาลิมิตที่ตั้งไว้หรือสูงกว่า


ตัวอย่าง

นาย ก. ต้องการซื้อเหรียญ Ethereum (ETH) ขณะนั้นเหรียญ ETH มีมูลค่าประมาณ 33,000 บาทในตลาดการซื้อขายของบิทคับ นาย ก. ต้องการซื้อ ETH ในราคาที่ถูกกว่าและคาดการณ์ไว้ว่าราคาของเหรียญน่าจะตกลงมาถึง 30,000 บาท เลยตั้งคำสั่งแบบลิมิตออร์เดอร์ไว้ที่ 30,000 บาท/เหรียญ ETH ต่อมา ราคาของ ETH ตกลงมาถึง 30,000 หรือต่ำกว่า ระบบจึงทำการจับคู่คำสั่งขายให้กับลิมิตออร์เดอร์ซื้อของนาย ก. ทันที 


หลังจากที่นาย ก. ได้รับเหรียญ ETH มา 1 เหรียญในราคา 30,000 บาท เขาคิดว่าราคาของ ETH น่าจะสูงขึ้นไปอีกและต้องการขายเพื่อทำกำไร จึงตั้งคำสั่งแบบลิมิตออร์เดอร์เพื่อขายเหรียญ ETH จำนวน 1 เหรียญ โดยตั้งราคาขายไว้ที่ 34,000 บาท/เหรียญ ไม่กี่วันต่อมา ราคาของ ETH สูงขึ้นไปอีกจนถึง 34,000 บาทและมากกว่า ระบบจึงจับคู่กับคำสั่งซื้อให้กับลิมิตออร์เดอร์ขายของนาย ก. ทันที 


ในบางครั้ง ท่านอาจพบว่ารายการของท่านมีการจับคู่กันมากกว่า 1 รายการ ซึ่งเกิดจากปริมาณคำสั่งซื้อ/ขายในฝั่งตรงข้ามมีไม่เพียงพอต่อปริมาณคำสั่งของท่าน อย่างไรก็ตาม ระบบจะดำเนินการทยอยจับคู่รายการจนกว่าจะครบตามคำสั่ง ท่านสามารถตรวจสอบรายการรอการจับคู่การซื้อ/ขายได้ที่ "รายการที่เปิดไว้ของฉัน"


โดยออร์เดอร์ที่ท่านได้ทำการตั้งไว้จะหายไป ก็ต่อเมื่อท่านทำการยกเลิกรายการด้วยตนเอง หรือรายการสำเร็จเท่านั้น ทางระบบจะไม่มีการกำหนดเวลาหรือยกเลิกรายการให้โดยอัตโนมัติ


Screen_Shot_2564-03-04_at_15.37.58.png

 

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการส่งคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสม ระบบจึงมีข้อกำหนดในการตั้งราคาสำหรับลิมิตออร์เดอร์ดังนี้

  • คำสั่งซื้อ: ราคาที่ตั้งซื้อต้องไม่สูงกว่าราคาปัจจุบันเกิน 20%
  • คำสั่งขาย: ราคาที่ตั้งขายต้องไม่ต่ำกว่าราคาปัจจุบันเกิน 20%

หากราคาที่ตั้งเป็นราคาที่ไม่เหมาะสมตามเงื่อนไขข้างต้น ระบบจะแสดงข้อความดังต่อไปนี้


Image_from_iOS.png

 

มาร์เก็ตออร์เดอร์ (Market Order) 


มาร์เก็ตออร์เดอร์ เป็นการสร้างคำสั่งซื้อ/ขายเหรียญด้วยราคาของตลาด ณ ปัจจุบัน โดยที่ท่านไม่จำเป็นต้องกำหนดราคาใด ๆ 

ท่านสามารถใส่แค่จำนวนเงิน/เหรียญจากยอดคงเหลือในกระเป๋าของท่าน หลังจากยืนยันคำสั่งซื้อ/ขาย ระบบจะทำการเลือกราคาต่อเหรียญที่คุ้มค่าที่สุดในตลาด ณ ปัจจุบัน และดำเนินการซื้อ/ขายให้ท่านทันที


ตัวอย่าง

นาย ข. ต้องการขาย ETH ทันทีโดยไม่ต้องการต่อรองราคา ซึ่งในขณะนั้น ราคาตลาดของ ETH อยู่ที่ 40,000 บาท/เหรียญ นาย ข. จึงตั้งคำสั่งแบบมาร์เก็ตออร์เดอร์เพื่อขายเหรียญ ETH เป็นจำนวน 1 เหรียญ เมื่อยืนยันคำสั่งขาย ระบบจะดำเนินการขาย ETH ของเขาที่ราคา 40,000 บาททันที


ในบางครั้ง ท่านอาจพบว่ารายการของท่านมีการจับคู่กันมากกว่า 1 รายการ ซึ่งเกิดจากปริมาณคำสั่งซื้อ/ขายในฝั่งตรงข้ามมีไม่เพียงพอต่อปริมาณคำสั่งของท่านอย่างไรก็ตามระบบจะดำเนินการทยอยจับคู่รายการจนกว่าจะครบตามคำสั่งทั้งนี้แต่ละรายการอาจมียอดที่แตกต่างกัน


โดยออร์เดอร์ที่ท่านได้ทำการตั้งไว้จะหายไป ก็ต่อเมื่อท่านทำการยกเลิกรายการด้วยตนเอง หรือรายการสำเร็จ


Screen_Shot_2564-03-04_at_15.38.07.png


ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการส่งคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสม ระบบจึงมีข้อกำหนดในการตั้งราคาสำหรับ Market Order ดังนี้

  • สำหรับกรณีการส่งคำสั่งประเภทจับคู่ทันทีที่ราคาที่ดีที่สุด และมีการจับคู่อย่างต่อเนื่อง ระบบจะยกเลิกคำสั่งดังกล่าวในกรณีที่ราคาที่กำลังจะจับคู่ล่าสุดของคำสั่งดังกล่าวแตกต่างจากราคาแรกที่จับคู่เกินกว่าร้อยละ 30 โดยระบบจะยกเลิกคำสั่งดังกล่าวในส่วนที่เหลือทันที

 

สต็อปลิมิตออร์เดอร์ (Stop-Limit Order) 


สต็อปลิมิตออร์เดอร์ เป็นการตั้งเงื่อนไขราคาและกำหนดให้ระบบสร้างคำสั่งซื้อ/ขายเหรียญโดยอัตโนมัติ เมื่อราคาในตลาดถึงเงื่อนไขราคาที่ตั้งไว้


สต็อปลิมิตออร์เดอร์มี 2 ประเภท คือ Stop-Limit Buy และ Stop-Limit Sell


Stop-Limit Buy คือ สถานะรอดำเนินการในการซิ้อ เมื่อราคาขยับถึงเงื่อนไขราคาที่ตั้งไว้

  • สต็อป คือ เงื่อนไขราคาที่ต้องการให้ระบบเริ่มส่งคำสั่งซื้อแบบลิมิตออร์เดอร์ไปสู่ตลาด
  • ลิมิต คือ เมื่อราคาในตลาดตรงกับราคาลิมิตที่ตั้งไว้หรือต่ำกว่า


ตัวอย่าง

ราคาปัจจุบันของ Cardano (ADA) เท่ากับ 120 บาท แต่ผู้เทรดคาดการณ์ไว้ว่าเมื่อราคาของ ADA ขยับขึ้นมาแตะที่ 150 บาทถือเป็นทะลุแนวต้าน*ขึ้นจากนั้นจะมีการย่อของราคากลับลงไปถึง 130 บาท ผู้เทรดจึงตั้งออร์เดอร์ Stop-Limit Buy โดยตั้ง Stop Price ที่ราคา 150 และ Limit Price ที่ราคา 130 บาท เพื่อให้มีโอกาสในการซื้อได้ที่ราคา 130 บาท ซึ่งจะถูกกว่าการซื้อที่ราคา 150 บาท


หากราคาตลาดขึ้นไปถึงแค่ 140 บาท ออร์เดอร์จะไม่ถูกสร้างขึ้นเนื่องจากราคายังไม่ถึง Stop Price ที่ตั้งไว้ที่ 150 บาท จึงทำให้ออร์เดอร์จะยังไม่ถูกส่งไปยังฐานคำเสนอซื้อ-ขาย (Order Book)

 

Stop-Limit Sell คือ สถานะรอดำเนินการในการขาย เมื่อราคาขยับขึ้นมาถึงเงื่อนไขราคาที่ตั้งไว้

  • สต็อป คือ เงื่อนไขราคาที่ต้องการให้ระบบเริ่มส่งคำสั่งขายแบบลิมิตออร์เดอร์ไปสู่ตลาด
  • ลิมิต คือ เมื่อราคาในตลาดตรงกับราคาลิมิตที่ตั้งไว้หรือสูงกว่า


ตัวอย่างที่ 1: กรณีใช้ Stop-Limit Sell ในการทำกำไร

ผู้เทรดกำลังถือ Ethereum (ETH) อยู่ 1 เหรียญและราคาปัจจุบันของ ETH เท่ากับ 82,000 บาท ผู้เทรดคาดการณ์ว่าหากราคาตลาดลงไปถึง 80,000 บาท จะเป็นการทะลุแนวรับ*ลงจากนั้นจะมีการพุ่งขึ้นของราคากลับมาชนแนวต้านที่ราคา 85,000 บาท ผู้เทรดจึงตั้งออร์เดอร์ Stop-Limit Sell โดยตั้ง Stop Price ที่ราคา 80,000 และ Limit Price ที่ราคา 85,000 บาท เพื่อให้มีโอกาสในการขายได้ในราคาที่ 85,000 บาท ซึ่งจะขายได้แพงกว่าการขายที่ราคา 80,000 บาท 


หากราคาตลาดลงไปถึงแค่ 81,000 บาท ออร์เดอร์จะไม่ถูกสร้างขึ้นเนื่องจากราคายังไม่ถึง Stop Price ที่ตั้งไว้ที่ 80,000 บาท จึงทำให้ออร์เดอร์จะยังไม่ถูกส่งไปยังฐานคำเสนอซื้อ-ขาย (Order Book)

 

ตัวอย่างที่ 2: กรณีใช้ Stop-Limit Sell ในการ Stop Loss

ผู้เทรดกำลังถือ Ethereum (ETH) อยู่ 1 เหรียญและราคาปัจจุบันของ ETH เท่ากับ 100,000 บาท ผู้เทรดคาดการณ์ว่าหากราคา ETH ตกลงไปถึง 80,000 บาทจะถือเป็นสัญญาณขาลงของเหรียญ ผู้เทรดจึงต้องการ Stop Loss เหรียญ ETH ที่ถืออยู่ในราคาดังกล่าวและตั้งออร์เดอร์ Stop-Limit Sell ไว้ โดยตั้ง Stop Price ไว้ที่ 80,000 บาท และตั้ง Limit Price ไว้ที่ 75,000 บาท เมื่อราคาของ ETH ตกลงมาถึง 80,000 บาท ระบบจะสร้างลิมิตออร์เดอร์ให้ขาย ETH ที่ราคา 75,000 บาททันที ทำให้ผู้เทรดสามารถขาย ETH เพื่อ Stop Loss ได้ตั้งแต่ราคา 75,000 - 80,000 บาท 


หากราคาของ ETH ตกลงไปต่ำกว่า 75,000 บาท ออเดอร์จะหยุดการจับคู่ และอาจทำให้ออร์เดอร์ยังไม่ได้รับการจับคู่ครบทั้งหมด เมื่อราคาในตลาดกลับมาอยู่ในราคาลิมิตที่ท่านตั้งไว้หรือสูงกว่าอีกครั้ง ออร์เดอร์จึงสามารถถูกจับคู่ต่อได้ 

 

ขณะนี้ทุกเหรียญที่เปิดเทรดบนบิทคับ เอ็กซ์เชนจ์มีบริการสต็อปลิมิตออร์เดอร์ ยกเว้นเหรียญ Fantom (FTM)

 

image__4_.png

 

หมายเหตุ:

  • คำสั่งซื้อที่ท่านได้ทำการตั้งไว้จะหายไปก็ต่อเมื่อท่านทำการยกเลิกรายการด้วยตนเอง หรือรายการสำเร็จเท่านั้น ทางระบบจะไม่มีการกำหนดเวลาหรือยกเลิกรายการให้โดยอัตโนมัติ
  • โดยปกติ บริษัทจะดำเนินการจับคู่คำสั่งซื้อและคำสั่งขายที่อยู่ในฐานคำสั่งซื้อ/ขาย (Order Book) ไปตามลำดับที่ได้มีการจัดไว้ คือ (1) ราคาที่ดีที่สุด และ (2) คำสั่งที่ส่งมาเร็วที่สุด
  • ตัวอย่างในบทความข้างต้นเป็นเพียงการยกตัวอย่างสถานการณ์เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ทางบริษัทขอสงวนสิทธิ์ในการปฏิเสธการรับผิดชอบกรณีมีการตั้งราคาตามตัวอย่างข้างต้นแล้วเกิดการขาดทุนอันเนื่องมาจากกลไกของตลาด
  • Cut loss หรือตัดขาดทุน หมายถึงการขายสินทรัพย์ที่มีการขาดทุนทันที เพื่อป้องกันการขาดทุนอย่างต่อเนื่องในอนาคต
  • *Stop Loss หมายถึง การหยุดเพื่อไม่ให้ราคาหลักทรัพย์ลดลงไปมากกว่านี้ ซึ่งขณะที่ทำการ Stop Loss นั้น ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้กำไรอยู่ในขณะที่ขายก็ได้ แต่ขายออกไปเพื่อป้องกันไม่ให้กำไรลดลงกว่าที่เป็น หรือขาดทุนมากยิ่งขึ้น (อ้างอิง)
  • *แนวรับ (Support) หมายถึง ระดับราคาที่ต่ำกว่าราคาในปัจจุบัน ผู้เทรดที่คาดการณ์ว่าจะมีความต้องการซื้อเข้ามาอย่างมากหรือมีคนสนใจซื้อที่ระดับราคาดังกล่าวเป็นจำนวนมาก (อ้างอิง)
  • *แนวต้าน (Resistance) หมายถึง ระดับราคาที่สูงกว่าราคาปัจจุบัน ที่ผู้เทรดคาดการณ์ว่าจะมีความต้องการขายเข้ามามาก หรือมีคนสนใจขายที่ระดับราคาดังกล่าวเป็นจำนวนมาก (อ้างอิง)
  • ระบบจะยกเลิกคำสั่งซื้อและขายที่ตั้งไว้ในราคาเดียวกัน สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลเดียวกัน ที่ถูกส่งโดยลูกค้ารายเดียวกัน
  • ระบบจะยกเลิกคำสั่งซื้อและขายที่ตั้งไว้ในราคาเดียวกัน สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลเดียวกัน ที่ถูกส่งโดยลูกค้าที่มีผู้รับผลประโยชน์ทอดสุดท้ายรายเดียวกัน


บทความนี้มีประโยชน์หรือไม่?

เยี่ยมเลย!

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นของคุณ

ขออภัยที่เราช่วยเหลือไม่ได้!

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นของคุณ

บอกให้เราทราบว่าเราจะปรับปรุงบทความนี้ได้อย่างไร!

เลือกเหตุผลอย่างน้อยหนึ่งข้อ
ต้องมีการตรวจสอบ CAPTCHA

ส่งข้อเสนอแนะแล้ว

เราขอขอบคุณในความพยายามของคุณ และจะพยายามแก้ไขบทความดังกล่าว