รู้เท่าทัน ข้อความจาก "คนดัง" และ “ความรักออนไลน์” ไม่ตกเป็นเหยื่อ Celebrity - Romance Scam

แก้ไขเมื่อ วันพุธ, 14 กุมภาพันธ์ เมื่อ 10:50 AM

ปัจจุบันมิจฉาชีพมาในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการโทรศัพท์หลอกว่าเป็นคนที่รู้จัก อ้างว่าเป็นคนดังต่าง ๆ เว็บไซต์ปลอม LINE ปลอม การส่งข้อความ SMS ให้กดลิงก์ต่าง ๆ และอีกมากมาย


บทความนี้ บิทคับ เอ็กซ์เชนจ์ จะขอพูดถึง “Romance Scam” ซึ่งเป็นรูปแบบของการหลอกลวงที่เกิดขึ้นบ่อย และมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน เพื่อให้ลูกค้าของเรารู้เท่าทันมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบนี้


Romance Scam คืออะไร


Romance Scam คือ การหลอกลวงโดยใช้เทคนิคทางจิตวิทยาในการพูดคุย สร้างความสัมพันธ์กับเหยื่อ และหลอกลวงโดยวิธีการต่าง ๆ โดยมิจฉาชีพมักจะสร้างเรื่องราวที่น่าเห็นใจ เพื่อให้เหยื่อสงสาร หรือทำให้เหยื่อเชื่อใจหรือตกหลุมรักและให้ความหวัง เช่น บอกว่าจะแต่งงานด้วยและสร้างครอบครัวร่วมกัน จนเหยื่อยอมโอนเงินหรือสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่มิจฉาชีพ รวมถึงทำทุกอย่างที่มิจฉาชีพต้องการ กว่าจะรู้ตัวก็อาจจะเกิดความเสียหายไปมากแล้ว ไม่ว่าจะทั้งทางจิตใจหรือทรัพย์สิน


นอกจากการเข้ามาในรูปแบบของการตีสนิทตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว หลายเคสที่เหยื่อถูกหลอกจากการหลงเชื่อว่าได้รับข้อความจากผู้มีชื่อเสียง เช่น ดารานักแสดงต่าง ๆ เซียนหุ้น หรือแม้แต่ Elon Musk ซึ่งการหลอกลวงในรูปแบบนี้ เรียกว่า "Celebrity Scam" และพบได้บ่อยเช่นเดียวกัน


ช่องทางที่มิจฉาชีพมักใช้ในการเข้าถึงเหยื่อ ได้แก่ เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันหาคู่ต่าง ๆ รวมถึงอีเมล เฟซบุ๊ก และแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่ใช้ในการส่งข้อความ


ลักษณะและจุดสังเกตของ Romance Scam


1. หน้าตาดี มีภูมิฐาน

มิจฉาชีพมักใช้รูปภาพของบุคคลอื่นที่หน้าตาดี ดูมีภูมิฐานและน่าเชื่อถือ หรือเป็นคนในเครื่องแบบ โดยแสดงออกว่ามีสถานะโสดในโลกออนไลน์ หรืออาจจะเคยแต่งงานมาแล้ว แต่คู่ครองเสียชีวิตหรือหย่าร้าง


2. มีชื่อเสียง หรือโปรไฟล์ดี

ในบางครั้ง มิจฉาชีพอาจใช้รูปของบุคคลที่มีชื่อเสียง และแอบอ้างว่าเป็นบุคคลนั้น ๆ หรืออาจสร้างตัวตนใหม่จากรูปดังกล่าว เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อว่าเป็นคนดีและไว้วางใจได้ จากภาพลักษณ์หรือโปรไฟล์ที่ดูดี


3. ให้ความหวังหรือขายฝัน

มิจฉาชีพจะมาในหลายรูปแบบ แต่ส่วนมากแล้วมักจะเริ่มจากการพูดคุย และพยายามทำความสนิทสนมกับเหยื่อ โดยการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตนเอง ที่มักจะมีหน้าที่การงานที่ดี เช่น เป็นข้าราชการ นักธุรกิจ หรือมหาเศรษฐี มีสถานะโสด หรือสมรสแล้วแต่คู่ครองเสียชีวิต และหวังที่จะหาใครสักคนมาเป็นคู่ครองเพื่อสร้างครอบครัวร่วมกัน โดยอาจเริ่มจากการชักชวนให้เหยื่อลงทุนผ่านแอปพลิเคชัน และใช้การหว่านล้อมและคำพูดที่ทำให้เหยื่อหลงรัก


ในบางกรณี อาจใช้การสร้างเรื่องราวที่ทำให้เหยื่อเห็นใจ และขอความช่วยเหลือ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทาง เพื่อให้เหยื่อโอนเงินไปให้ ฯลฯ บางกรณีอาจเป็นการสร้างกิจกรรมส่งเสริมการขายปลอมขึ้นมา เพื่อหลอกลวงให้เหยื่อเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว


อีกรูปแบบที่พบได้คือ การบอกว่าจะส่งของมีค่ามาให้เหยื่อ แต่ของติดอยู่ที่ด่านตรวจหรือมีอุปสรรคต่าง ๆ จึงต้องให้เหยื่อโอนเงินไปจ่ายก่อนเพื่อจะได้นำของออกมา ซึ่งมีเหยื่อหลายคนหลงเชื่อเพราะหวังสิ่งของราคาสูงนั้น


4. ต้องการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล

มิจฉาชีพจะหาวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคล เช่น การหลอกถามอายุ อาชีพ เพื่อหาจุดอ่อนของเหยื่อ และนำข้อมูลมาใช้ในการหลอกลวงหรือใช้ประโยชน์ต่อไป


5. ชวนเข้ากลุ่ม ชวนลงทุน

การชวนเข้ากลุ่ม และร่วมลงทุนเป็นวิธีที่ถูกนำมาใช้มากใน Celebrity Scam โดยมิจฉาชีพจะหลอกล่อให้เหยื่อมาเข้ากลุ่มหรือโอนเงินมาเพื่อลงทุนที่ให้กำไรมากเกินจริง ซึ่งในระยะแรกจะยังถอนเงินได้ จนเหยื่อหลงเชื่อว่าทำเงินได้มากจริงในช่วงเวลาอันสั้น และลงเงินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้ายจะเริ่มถอนเงินไม่ได้ และต้องโอนเงินไปมากขึ้นเพื่อเสียค่าธรรมเนียมสำหรับการถอนเงินออกมา กว่าจะรู้ตัวก็สูญเสียเงินไปมากแล้ว


กลุ่มเป้าหมายของ Romance Scam


จริง ๆ แล้ว เราทุกคนสามารถตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ทั้งสิ้น หากไม่ทันสังเกตและไม่ระวัง ทั้งนี้ บุคคลที่มีความเสี่ยงสูง และมักตกเป็นกลุ่มเป้าหมายของการหลอกลวงแบบ Romance Scam นี้ ได้แก่

  • คนโสด

  • พ่อม่าย แม่ม่าย

  • สาวใหญ่ที่อยากเจอรักแท้

  • ผู้ที่มีสถานะหย่าร้าง

  • ผู้สูงอายุ


เนื่องจากเป็นกลุ่มบุคคลที่อาจต้องการหาเพื่อนคุยเพื่อคลายความเหงา หรืออยู่ตามลำพัง และไม่ระมัดระวังในการแชร์รูปหรือข้อมูลส่วนบุคคลในสื่อออนไลน์แบบสาธารณะ ทำให้ข้อมูลถูกเข้าถึงได้ง่าย


ทำอย่างไร เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ


1. ตรวจสอบข้อมูลของบุคคลที่ติดต่อมาว่ามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ หากไม่แน่ใจ สามารถใช้เครื่องมือสืบค้นร่วมด้วย เช่น การสืบค้นรูปภาพสามารถใช้บริการของกูเกิ้ลทาง Google Image

2. บัญชีของมิจฉาชีพมักไม่ค่อยมีเนื้อหามาก มีเพื่อนน้อย หรือเพิ่งสร้างขึ้นมาไม่นาน

3. การพูดคุยมักใช้คำพูดที่ดีหรือมีลักษณะหว่านล้อม และเรื่องราวดูดีเกินจริง

4. การตัดสินใจของท่านมีผลต่อทรัพย์สินของท่าน ไม่หลงเชื่อและโอนเงิน หรือให้ข้อมูลส่วนตัวโดยเด็ดขาด


5. ไม่โพสต์ข้อมูลส่วนตัวหรือเปิดโพสต์เป็นสาธารณะ


ทำอย่างไร หากตกเป็นเหยื่อไปแล้ว


ให้เก็บหลักฐานการโอนเงิน และภาพข้อความการพูดคุยกับมิจฉาชีพในทุกช่องทาง เพื่อเก็บชื่อบัญชี รูปโปรไฟล์ ข้อมูลการติดต่อและข้อมูลอื่น ๆ ของมิจฉาชีพไว้ให้มากที่สุด และพิมพ์ (print) ข้อมูลทั้งหมดออกมาและนำไปแจ้งความเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป โดยผู้เสียหายสามารถแจ้งความได้ทั้งต่อสถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ สถานีตำรวจนครบาล สถานีตำรวจภูธร และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโลยี (บก.ปอท.) 


ข้อมูลอ้างอิง


บทความนี้มีประโยชน์หรือไม่?

เยี่ยมเลย!

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นของคุณ

ขออภัยที่เราช่วยเหลือไม่ได้!

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นของคุณ

บอกให้เราทราบว่าเราจะปรับปรุงบทความนี้ได้อย่างไร!

เลือกเหตุผลอย่างน้อยหนึ่งข้อ
ต้องมีการตรวจสอบ CAPTCHA

ส่งข้อเสนอแนะแล้ว

เราขอขอบคุณในความพยายามของคุณ และจะพยายามแก้ไขบทความดังกล่าว